โรคต้อหิน

อาการ ปวดรอบกระบอกตาอย่างมาก ปวดลามไปถึงศีรษะและการมองเห็นไม่ชัดเจน คือเห็นเฉพาะด้านหน้า
แต่บริเวณรอบๆ หรือด้านข้างจะไม่เห็น เรียกว่า 'ลานสายตาแคบ' ดังเช่นในภาพ บางรายเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ อาการลานสายตาแคบจะค่อยๆ เป็นโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้ไปรับการรักษา โดยมากมักจะเป็นต้อหินกับตาทั้งสองข้าง โดยเริ่มจากตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน เมื่อส่องกระจกเห็นดวงตามีสีเขียวเทา ขุ่นมัว หลับตาแล้วลูบคลำ ดวงตาจะรู้สึกว่าตาแข็งเหมือนลูกแก้ว จึงเป็นที่มาของคำว่า "ต้อหิน" ต้นหินเป็นภาวะที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้น และมีการเสื่อมของประสาทตาและสูญเสียการมองเห็น ความดันในตาที่สูงจะกดดันเส้นประสาทตาให้เสื่อม
ปัจจัยเสี่ยงของต้อหิน
·        มีการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ
·        อายุมากกว่า 60 ปี
·        สายตาสั้นมาก
·        ดวงตาเคยเป็นแผล
·        มีโรคเบาหวาน
·        มีเส้นเลือดอุดตันเรื้อรังในดวงตา
·        เป็นต้อกระจกมาก่อน
·        มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน
เมื่อประสาทตาเสื่อมลงเรื่อยๆ ตาจะบอดภายในเวลาไม่นาน ต้อหินเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นตาบอดได้มาก
การรักษา หากตรวจพบเมื่อเริ่มแรกเป็นแพทย์จะให้ยาลดความดันในลูกตา มีทั้งยาชนิดรับประทานและยาหยอดตา โดยลดการสร้างของเหลวในด้านหน้าลูกตา หรือไปช่วยการไหลของของเหลวนี้ออกจากลูกตา ที่สำคัญคือ ต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมความดันลูกตาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ไปทำลายขั้วประสาทตาและลานสายตารวมทั้งการมองเห็น ในรายที่เป็นมากจะทำการผ่าตัดด้วยเลเซอร์เพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงตาที่ ถูกปิดกั้นไว้จนเกิดความดันในลูกตาสูง บางรายอาจต้องผ่าตัดด้วยมีดเป็นการผ่าตัดเปิดทางให้ของเหลวไหลออกจากตาได้ อย่างสะดวก ซึ่งมักจะทำเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้วิธีอื่นๆ
โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองโรคต้อหิน ซึ่งควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ควรสังเกตตนเองหากมีอาการปวดตาหรือมีความผิดปกติที่ดวงตาควรรีบไป พบจักษุแพทย์ สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคต้อหินทุก 2 ปี ที่สำคัญคือ เมื่อแพทย์ตรวจพบเป็นต้อหินในระยะแรกๆ นั้น สายตาจะยังปกติอยู่ ไม่มีอาการปวดหรือผิดปกติใดๆ แต่เมื่อปล่อยให้โรคนี้ลุกลามแล้วผู้ป่วยจึงจะเริ่มรู้สึกถึงการมองเห็นที่ เปลี่ยนไป โดยจะมองเห็นวัตถุที่อยู่ข้างหน้าได้ชัดดี แต่จะไม่เห็นวัตถุที่อยู่ข้างๆ ดังนั้นต้องให้การใส่ใจกับการตรวจ