มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย

อาการ ระยะเริ่มแรกจะยังไม่มีอาการผิดปกติ ต่อมาจึงเริ่มมีโลหิตจางมีจ้ำเลือดสีเขียวตามตัว เลือดออกง่าย

มีเลือดกำเดาบ่อย เลือดออกตามไรฟัน หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย ไข้ต่ำๆ อย่างเรื้อรังแรมเดือน ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งบวมโต เช่น คอ ขาหนีบ รักแร้ เป็นต้น
สรุปอาการที่ชวนสงสัย
  • เลือดจาง ซีด
  • หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย
  • เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนัง เหงือก เป็นจ้ำตามตัว
  • ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจากตับ ม้ามโต
  • โรคติดเชื้อได้ง่าย เป็นบ่อย มีไข้เรื่อยๆ
เมื่อเซลล์มะเร็งเกิดการแพร่กระจายไปยังตับและม้าม ก็จะทำให้ตับโตและม้ามโตได้ และถ้าหากเซลล์มะเร็งเกิดการแพร่กระจายไปยังกระดูกก็จะส่งผลทำให้มีอาการปวด กระดูกและข้อ เด็กจะซึมเพราะความเจ็บป่วย รูปร่างผอมลงรับประทานอาหารไม่ค่อยได้ เซลล์มะเร็งแพร่ไปทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดที่ดีได้น้อยลง
สาเหตุ เกิดจากมีการสร้างเม็ดเลือดขาวชนิดผิดปกติออกมามาก และจะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติ ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวที่ปกตินั้นมีจำนวนลดน้อยลง เกล็ดเลือดน้อยลงทำให้มีเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจ้ำๆ และมีเลือดกำเดา เลือดหยุดไหลได้ยาก มีการติดเชื้อง่ายเพราะเม็ดเลือดขาวซึ่งมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคมีน้อยลง
ปัจจัยเสี่ยง
  • การสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสี
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม
  • การติดเชื้อไวรัส
  • สัมผัสสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำมันเบนซิล สีทาบ้าน ควันรถ ควันพิษต่างๆ เป็นต้น

มะเร็งเม็ดเลือดขาว มีชื่อเรียกที่รู้จักกันดีว่า ลูคีเมีย (leukemia) แบ่งออกเป็น ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า และชนิดค่อยๆ เป็นอย่างเรื้อรัง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemia) เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว ทำให้เม็ดเลือดขาวที่ปกติมีน้อยมาก อาการผิดปกติจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มะเร็งชนิดนี้มักเกิดกับเด็ก โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน
มะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia) เกิดจากร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาทั้งตัวอ่อนและตัวแก่เป็น ชนิดที่ผิดปกติจำนวนมาก ยังคงมีเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติอยู่พอสมควร เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้นนี้จะไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ อย่างเช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ และม้าม ทำให้อวัยวะดังกล่าวโตขึ้นกว่าปกติจนคลำได้ มะเร็งชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ บางครั้งมีการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นมาก เกล็ดเลือดเพิ่มมาก จนก่อปัญหาอุดตันในหลอดเลือด

การวินิจฉัย การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทำได้ง่าย เจาะเลือดเพียงเล็กน้อย ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ดูลักษณะเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ จำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นมาก หากยังสงสัยแพทย์อาจทำการเจาะตรวจไขกระดูกหรือน้ำไขสันหลังจากกระดูกสันหลัง
การรักษา ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว การตอบสนองต่อการรักษา ด้วยยาเคมีบำบัด และอายุของผู้ป่วยด้วย
  1. ส่วนใหญ่ใช้วิธีเคมีบำบัด สามารถให้ได้ทั้งทางฉีดและการกิน มะเร็งบางชนิดอาจต้องให้เข้าไขสันหลัง ผู้ป่วยแต่ละรายมักจะต้องได้เคมีบำบัดหลายรอบ หลายครั้ง โดยทั่วไปประมาณ 3-6 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 2-3 เดือน
  2. เคมีบำบัดทำลายเซลล์ปกติด้วย ดังนั้นอาการข้างเคียงจึงเกิดจากการที่เซลล์ปกติถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง เป็นหมัน
  3. การใช้รังสีรักษา ฉายไปที่อวัยวะบางแห่งที่เป็นมะเร็ง อย่างเช่น ม้าม อัณฑะ หรืออาจใช้ฉายรังสีทั้งตัวเพื่อเตรียมการปลูกถ่ายไขกระดูกบริเวณที่ฉายแสงขน หรือผมจะร่วง ผิวบริเวณดังกล่าวจะแห้ง คันห้ามใช้โลชั่นหรือครีมใดๆ ก่อนปรึกษาแพทย์
  4. ใช้วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูกของคนปกติฉีดเข้าไป ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล จนกระทั่งร่างกายสามารถสร้างเม็ดเลือดได้เอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เลือดออกผิดปกติ แต่โอกาสหายขาดก็มีสูง และช่วยให้โรคสงบได้เร็ว
  5. การสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการใช้อินเตอเฟียรอนกับเซลล์มะเร็งได้บางชนิด
ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหลายรายสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวและสภาพร่างกายทั่วไปของผู้ ป่วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 1-10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
นอกจากรักษาตัวโรคคูลีเมียเอง ยังต้องป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อนและมักต้องได้รับเลือดบริจาคเลือดเข้าไป ชดเชย เพื่อให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงมากพอที่จะทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่าง กาย หากมีเกล็ดเลือดต่ำ มีอาการเลือดออก ก็ต้องให้เกล็ดเลือด


ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง

  1. ออกกำลังกายพอเหมาะและสม่ำเสมอ นอกจากช่วยให้กล้ามเนื้อของร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยขับของเสียผ่านทางเหงื่อและเพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือด ทำให้เซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิต้านทานทำลายสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่บริเวณอวัยวะต่างๆ ได้เร็วขึ้น
  2. ควบคุมน้ำหนักตัว พบว่าโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งมดลูก ถุงน้ำดี และลำไส้ใหญ่ การลดน้ำหนักด้วยออกกำลังกายควบคู่กับลดอาหารที่ให้พลังงานสูงจะช่วยป้องกัน มะเร็งเหล่านี้ได้
  3. รับประทานอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ ครบ 6 หมู่ และถูกสัดส่วนไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป โดยเฉพาะอาหารเสริมภูมิต้านทานอย่างเช่น ผัก ผมไม้ ที่มีเบตาคาโรทีน วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี และแร่ธาตุบางชนิด ได้แก่ ซีลีเนียม และสังกะสี ซึ่งมีผลเพิ่มการสร้างเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน
    • รับประทานผักตระกูลกะหล่ำให้มาก เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บรอกโคลี ฯลฯ เพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะอาหาร
    • รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผักผลไม้ ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด และเมล็ดธัญพืชอื่นๆ เพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • รับประทานอาหารที่มีไวตามินซีสูง เช่น ผักสด ผลไม้ต่างๆ เป็นต้น เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร และช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
    • ดื่มน้ำเปล่ามากๆ วันละ 6-8 แก้ว ดื่มเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน น้ำจะช่วยเพิ่มสารคัดหลั่งและความชุ่มชื้นของเยื่อบุผิวในท่อทางเดินหายใจ ส่วนบนที่จะช่วยป้องกันและดักจับฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ช่วยให้การขับถ่ายของเสียออกทางเหงื่อหรือปัสสาวะเป็นไปโดยดี กระบวนการทางเคมีของร่างกายล้วนอาศัยน้ำเป็นตัวช่วย
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ได้แก่
    • อาหารที่มีราขึ้น เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด พริก ขนมปัง ฯลฯ อาหารที่มีราขึ้น โดยเฉพาะสีเขียว-เหลือง จะมีสารอัลฟาทอกซินปนเปื้อน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับ
    • ลดอาหารมัน อาหารที่มีไขมัีนสูงจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ และต่อมลูกหมาก
    • อาหารปิ้ง-ย่าง จนไหม้ มีสารเฮทเทอโรซัยคลิกเอมีน ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ
    • หลีกเลี่ยงสารโพลีโซคลิกอโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งพบในอาหารรมควัน เช่น ปลารมควัน ไส้กรอกรมควัน ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงไนโตรซามีน พบในอาหารที่ใส่ดินประสิว เกลือไนไตรท์ เช่น แหนม ไส้กรอก แฮม กุนเชียง เป็นต้น ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • หลีกเลี่ยงสีย้อมผ้า พบในอาหารใส่สี เช่น กุ้งแห้ง ขนม ลูกอม ผมไม้แช่อิ่ม เป็นต้น ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    • อาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม ปลาร้า ฯลฯ จะทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีในตับ
    • หยุดสูบบุหรี่และเลี่ยงควันบุหรี่ การสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด กล่องเสียง ฯลฯ การเคี้ยวยาสูบจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากและช่องคอ
    • ลดการดื่มอัลกอฮอล์ ดื่มอัลกอฮอล์จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปาก ช่องคอ กล่องเสี่ยง และหลอดอาหาร
  5. อย่าตากแดดจัด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง
  6. ลดความเครียด อารมณ์เครียดจะส่งผลเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเครียด ด้วยการฟังเพลง ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฯลฯ
  7. นอนหลับให้เพียงพอ การนอนไม่พอนั้นมีผลลดการสร้างเซลล์ในระบบภูมิต้านทาน ระหว่างการนอนหลับจะมีการซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ในเด็กจะมีการหลั่งฮอร์โมนเสริมสร้างการเจริญเติบโต
  8. ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี ช่วยให้พบโรคในระยะเริ่มแรกได้ก่อนที่จะมีอาการ