โรคเนื้องอกในสมอง

อาการ ปวดศีรษะตื้อๆ ลึกๆ เป็นบางจุดที่เป็นเนื้องอก ซึ่งพบว่าโรคนี้สามารถเกิดได้ในทุกๆ ส่วนของสมอง

มักปวดตอนดึกและตอนเช้า พอสายอาการทุเลาลง บางครั้งมีคลื่นใส้ อาเจียน เพราะความดันที่เพิ่มขึ้นในสมอง หลังอาเจียนแล้วอาการปวดศีรษะจะบรรเทาลง บางรายมีอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ เมื่อเกิดอาการแล้วจะรุนแรงมากขึ้นและไม่หายขาดไปเอง ผู้ที่ปวดศีรษะจากเนื้องอกสมองมักจะมีอาการอ่อนแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกและความจำ หรือมีอาการชัด เมื่อเป็นมากอาจมีอาการตามัวเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ จนถึงตาบอด เนื่องจากเส้นประสาทในสมองถูกกดทับขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกเป็นที่ตำแหน่งใด ของสมอง เนื้องอกในสมองเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนักเมื่อเทียบกับเนื้องอกของอวัยวะ อื่นๆ เกิดได้กับคนทุกอายุทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สาเหตุของโรคยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ปัจจัย เช่น
1.ไวรัสเอดส์
2.สารเคมีกลุ่มไนโตรโซคอมปาวด์ ยาฆ่าแมลง
3.รังสีที่ได้รับโดยตรงบริเวณสมอง
4.ได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
5.สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
โดยคาดว่าน่าจะมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการรวมกันทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นมา ไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งโดยเฉพาะ
การวินิจฉัย หากมีอาการปวดในลักษณะนี้ควรนึกถึงโรคเนื้องอกในสมอง หรือการมีพยาธิสภาพในสมอง ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งจะต้องตรวจอย่างละเอียดด้วยการตรวจคลื่นสมอง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการฉีดสารทึบแสงเอกซเรย์หลอดเลือดสมองเพื่อถ่ายภาพตำแหน่งของเนื้องอก หรือ การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งเป็นการตรวจทางรังสี ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องแม่นยำมาก บางครั้งอาจต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยการเจาะน้ำไขสันหลัง ตรวจดูหาเซลล์มะเร็งหรือหาสารบางประเภทที่ช่วยในการวินิจฉัย บางกรณีอาจต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งอาจทำโดยเจาะผ่านทางกะโหลก
การรักษา แพทย์มักรักษาด้วยการผ่าตัดสมองเป็นวิธีแรก ตามด้วยรังสีรักษาหรือเคมีบำบัด โดยเฉพาะในรายที่พบว่าก้อนมีขนาดใหญ่และเนื้องอกที่ระยะยาวอาจเปลี่ยนชนิด เป็นเนื้อร้ายก็ได้ก็ควรได้รับการผ่าตัด
เท่าที่ผ่านมาผู้ป่วยมักมาหาแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้ว การรักษาจึงมักไม่ค่อยได้ผลดี ส่วนรายที่ได้ผลดีนั้นมักเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เช่น มีลักษณะเป็นก้อนไม่ใหญ่และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ เป็นต้น
การผ่าตัดมีข้อจำกัดในรายที่มีการลุกลามเฉพาะที่อย่างมากจนแพทย์ไม่ สามารถผ่าตัดออกได้หมด หรือในรายที่มีก้อนเนื้ออยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถจะผ่าตัดออก เพราะอาจทำให้เกิดความพิการ หรืออันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น อยู่ที่ตำแหน่งก้านสมอง เป็นต้น
การฉายรังสีจะให้ครอบคลุมเฉพาะบริเวณก้อนเนื้อที่เป็นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นมะเร็งในสมองที่มีความรุนแรงมาก การรักษาอาจต้องครอบคลุมเนื้อสมองกว้างขึ้น หรือทั้งสมองก็ได้ ภายหลังจากที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแพทย์จะทำการนัดตรวจติดตามอาการของผู้ป่วย อย่างต่อเนื่องนาน 3 ปี มีการซักถามประวัติและตรวจร่างกาย รวมทั้งอาจส่งทำการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจสมองด้วยเครื่องตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น